ชีวิตที่ดีกว่าของคน 99% ที่เต็มไปด้วยเครื่องหมาย “คำถาม” - Decode
Reading Time: 3 minutes

คนทำงาน

ฉัตรชัย พุ่มพวง

บทความที่แล้ว ที่ทิ้ง “เครื่องหมาย” คำถามว่า

“ทำไมคนที่สร้างทุกอย่าง และทำให้สังคมเศรษฐกิจมันขับเคลื่อนไปได้ ถึงได้ค่าตอบแทนแบบอนาถา”

พวกเราไม่มีอะไรเลย มีแต่หนี้สิน มีแต่ความเครียด มีแต่อนาคตที่มืดมน ไม่ต้องไปถึงคุณภาพชีวิตที่ดีหรอก เอาแค่เดือนชนเดือน วันชนวันก็แย่แล้ว แค่ค่ากิน ค่าเช่า ค่าน้ำค่าไฟ ค่าเน็ต ค่าเดินทาง ค่าดูแลครอบครัว ก็ติดลบแล้ว

ทำไมพวกเราคนทำงานที่ร่วมกันสร้างโลกที่ทันสมัยไฮเทคหรูหราศิวิไลซ์ขนาดนี้ ถึงได้ส่วนแบ่งน้อยจังเลย ไอ้สิ่งที่พวกเราร่วมกันสร้างมันขึ้นมามูลค่าทั้งหมดมันไปอยู่ที่ใครกันนะ?

จบคำถามนี้แล้วก็นึกถึงข่าวความร่ำรวยและการจัดอันดับมหาเศรษฐีของไทยที่รวยกันพันล้านหลายหมื่นล้านไปจนถึงหลายแสนล้าน บางคนติดอันดับท็อปคนที่รวยที่สุด 200 อันดับของโลก หรือติดท็อป 5 รวยที่สุดในทวีปเอเชีย หรือหลายคนก็อยู่ใน 2,000 อันดับแรกของโลก

ลองนึกดูสิ คนที่ตัวเท่า ๆ เรามีชีวิต มีจิตใจเช่นเดียวกันกับเราแค่ 2,000 คน แต่ครอบครองสิ่งของทรัพยากรมากมายมหาศาล จนแทบจะเรียกได้ว่าเป็นเจ้าของทุกสิ่งทุกอย่างในโลกใบนี้ก็ว่าได้

ซึ่งความร่ำรวยบรรลัยเหล่านี้มันสะท้อนว่าโลกของเราไม่ได้ขาดแคลนและโดยเฉพาะสังคมไทยของเราก็ไม่ได้ยากจนเพราะ คนรวย 10 อันดับแรกมีทรัพย์สินและทรัพยากรมหาศาล ลองบวกรวมกันก็อาจจะมีมูลค่ามากถึง 3.5 ล้านล้านบาท และถ้าลงรายละเอียดแยกย่อยเป็นที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ต่าง ๆ คน 1% หลายตระกูลก็มีที่ดินหลายพันหลายหมื่นไร่ และบางตระกูลก็มีที่ดินหลายแสนไร่

ในไทยมีการคำนวณไว้ว่าคน 1% ของประเทศนี้ถือครองทรัพย์สินถึง 56% หรือกว่าครึ่งนึงของสังคม ในขณะที่คน 99% ถือครองทรัพย์สินแค่ 44% หรือไม่ถึงครึ่งด้วยซ้ำ

หรืออย่างเรื่องที่ดินก็เช่นกัน

ที่ดิน 80% เป็นของคนแค่ 5%

ที่ดินอีก 20% เป็นของคนเพียง 20%

ส่วนคนอีก 75% ที่เหลือไม่มีที่ดินเลย

ในส่วนของคน 20% คือสิบกว่าล้านคนที่มีที่ดินนั้น

คนมากกว่าครึ่งนั้นมีเพียงที่ดินผืนเล็ก ๆ ไม่เกิน 1 ไร่

คนอีกราวร้อยละ 20 มีที่ดินเพียง 1-2 ไร่

และคนอีกร้อยละ 28 เท่านั้นมีที่ดินเกิน 5 ไร่

ด้วยข้อมูลทั้งหมดนี้ มันคือโลกที่แฟร์แล้วหรือ? สังคมที่คนหยิบมือเดียวครอบครองทรัพยากรทุกอย่าง สามารถกำหนดสภาพแวดล้อม เงื่อนไข กฎเกณฑ์ต่าง ๆ ทั้งในชุมชน ที่ทำงาน ไปจนถึงสังคม ที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตของคนหลายสิบล้านยังไงก็ได้

โดยที่คนหลายสิบล้านนั้น ไม่มีสิทธิในการออกแบบหรือกำหนดอะไรไปมากกว่าการลุ้นว่าจะโชคดีได้เลือกตั้งทุก ๆ 4 ปีโดยไม่มีการรัฐประหาร หรืออุบัติเหตุทางการเมืองอะไรมาจำกัดทางเลือกที่ก็แทบจะไม่มีอยู่แล้ว

ถึงแม้ว่าสังคมจะพึ่งผ่านช่วงพีคของวิกฤตโรคระบาดมา แต่คนรวยก็ยังคงรวยมากขึ้น ๆ ในขณะที่คนจนก็จนลง ๆ หนักกว่าเดิม ด้วยโครงสร้างที่ถูกออกแบบเพื่อผลประโยชน์ของคนส่วนน้อย ถ้าสังเกตดี ๆ จะเห็นเจตนาของระบบนี้อย่างชัดเจนว่าตั้งใจทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ จนเหลือพื้นที่และโอกาสน้อยมาก ๆ ที่คนส่วนใหญ่จะสามารถมีชีวิตที่ดีและอยู่อย่างสมศักดิ์ศรีได้

ประเทศที่คนสูงอายุกว่า 8 ล้านคนมีบำนาญแค่ 600 ถึง 1,000 บาท ทำให้หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่คนเหล่านี้ต้องทำงานต่อไปจนถึงที่สุด รวมถึงจำเป็นต้องให้ลูกหลานที่เป็นคนวัยทำงานต้องส่งเงินมาสมบทด้วย

ในขณะที่ลูกหลานเป็นล้านคนก็ต้องเป็นหนี้ กยศ.หลักแสนตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มทำงาน แถมพอดั้นด้นเรียนจบออกมาค่าแรงก็ยังแทบไม่พอกินอีกหนี้ก็หมดช้า เงินก็ต้องแบ่งส่งให้ที่บ้าน ทุกอย่างเป็นบ่วงที่ทำให้ไปถึงชีวิตที่มีคุณภาพดีและสุขสมบูรณ์ได้ยากมาก ๆ

เรื่องด้อยโอกาสทางการศึกษาเป็นอีกประเด็นที่ถูกโฟกัสอย่างบิดเบือน เพราะทุกคนเชื่อว่าเรียนสูง ๆ จะได้มีโอกาสได้งานดี ๆ มีเงินเดือนเยอะ ๆ ถ้าเรามองแบบเผิน ๆ มันก็เหมือนจะเป็นความจริง แต่จริง ๆ แล้วอีกสาเหตุที่สำคัญคือการด้อยประชาธิปไตยในที่ทำงาน ด้อยประชาธิปไตยในเศรษฐกิจ และด้อยรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า (แบบเดียวกับที่เหล่าข้าราชการได้)

บางคนอาจจะเคยเห็นประกาศรับสมัครงาน ต้องการคุณสมบัติจบ ป.เอก ให้เงินเดือน 21,000 บาทเท่านั้น สุดท้ายวุฒิการศึกษาอาจจะเป็นส่วนที่ช่วยระดับนึงแต่ไม่ใช่ทั้งหมด และการศึกษาอาจทำให้เราหลงคิดไปได้ว่ามันมีอาชีพที่ต่ำที่สูงเพราะวัดกันที่ “การศึกษา”, “ความสำคัญ”, “ความฉลาด” , “ความสามารถ” หรือรายได้และสวัสดิการที่จะได้รับ แต่จริง ๆ แล้วแทบทุกงานก็มีความจำเป็น เช่น งานทำความสะอาดตั้งแต่ภายในอาคารไปจนถึงเมืองทั้งเมือง, งานในโรงงาน, งานท่าเรือ, งานขนส่ง และงานอื่น ๆ ที่ไม่กล่าวถึงอีกมากมาย สังคมไม่ได้ดำรงอยู่ได้ด้วยแค่เฉพาะงานที่บางคนบอกว่า “เก่งกว่าฉลาดกว่ามีค่ากว่า” เท่านั้น แต่สังคมอยู่ได้ด้วยงานที่หลากหลายประสานกันจนสังคมขับเคลื่อนไปได้ทุกวัน และงานเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องจบ ป.เอก

แต่คำถามคือ คนทำงานเหล่านี้พวกเค้าไม่มีสิทธิมีชีวิตที่ดีเลยใช่มั้ย?

และใช่ในมุมสวัสดิการถ้วนหน้า การศึกษาจนถึงมหาลัยควรเป็น “สิทธิขั้นพื้นฐาน” ที่ทุกคนเข้าถึงได้อย่างถ้วนหน้าไม่ว่าคุณจะอยู่ส่วนไหนของสังคม

แต่สุดท้ายในทางเศรษฐกิจปัจจัยชี้ขาดคือ ความมีหรือไม่มี มีน้อยหรือมีมากของคำว่า “ประชาธิปไตยในที่ทำงาน”

เพราะถ้าการตัดสินใจตกอยู่ที่ใคร ก็เป็นธรรมดามาก ๆ ที่กำไรหรือผลประโยชน์ส่วนใหญ่จะต้องตกไปอยู่ในมือคนนั้น เช่น เจ้าของบริษัท, บอร์ดบริหาร, ผู้ถือหุ้น คือกลุ่มคนที่มีอำนาจตัดสินทุกเรื่องในที่ทำงาน รวมถึงเรื่องการจัดการส่วนแบ่งกำไรให้ตัวเอง กำหนดเงินเดือนสวัสดิการของคนทำงานทุกคนในบริษัท ทุกอย่างจึงถูกตั้งกฎเกณฑ์ออกแบบให้ผลประโยชน์ทั้งหมดตอบสนองคนเหล่านั้น ไม่ใช่แรงงาน ไม่ใช่คนทำงาน ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในบริษัทและเป็นส่วนสำคัญไม่แพ้เจ้าของบริษัทหรือนายทุนของบริษัท

ในที่ทำงานทุกคนจำต้องเจอกับโครงสร้างแบบเผด็จการที่มาแบบเนียน ๆ และทำเสมือนว่ามันเป็นเรื่องที่ถูกที่ควรแล้วเพราะก่อนหน้าที่ทุกคนจะเริ่มทำงานก็ต้องถูกหล่อหลอมด้วยวัฒนธรรมอำนาจนิยม หรือโซตัสในครอบครัว โรงเรียน หรือโดยเฉพาะในมหาลัยมาก่อนแล้ว ทำให้ไม่ยากเลยที่ทุกคนจะไม่ตั้งคำถามต่ออำนาจในที่ทำงาน บวกกับวัฒนธรรมการแข่งขันในระบบการศึกษาและสังคม การถูกสั่งสอนให้เป็นเจ้าคนนายคน ยอมรับลำดับชั้นทางสังคม ทำให้นอกจากไม่ตั้งคำถามต่ออำนาจในที่ทำงานแล้ว หลายคนยังไปปกป้องอำนาจนั้นอีก พูดง่าย ๆ ไปอยู่ข้างเจ้านาย แทนที่จะอยู่ข้างเพื่อนพี่น้องคนทำงานด้วยกัน ทั้ง ๆ ที่เงินในกระเป๋าและคุณภาพชีวิตตัวเองก็ไม่ได้ใกล้เคียงเจ้าสัวนายทุนพวกนั้นเลยด้วยซ้ำ แต่ลึก ๆ คงคิดไว้ว่าตัวเองจะรวยขึ้นมาได้แบบนั้นบ้าง ซึ่งแทบจะมีโอกาสประมาณ 1% เท่านั้น

เราจะเห็นอาการแบบนี้ได้ทั่วไปในคอมเม้นข่าวที่เกี่ยวกับการประท้วงของแรงงาน “มีงานทำก็ดีแล้ว” “เค้าให้เท่านี้ก็บุญแล้ว” “ไม่พอใจก็ลาออกไปสิ” “ไปเปิดบริษัทเองสิ” เราเชื่อว่าคนที่คอมเม้นแบบนี้ ส่วนใหญ่ก็เป็นลูกจ้าง เป็นแรงงานคนทำงานด้วยกันนี่แหละ

อีกเหตุการณ์ที่ชัดมาก ๆ คือยูทูบเบอร์ชื่อดังมีดราม่าเรื่องทีมงาน และคนนึงจบ ม.6 ได้เงินเดือน 30,000 บาท มีจุดสังเกตที่น่าสนใจนึง คือทุกคนรุมด่าว่าไม่สำนึกบุญคุณนายจ้าง และแข่งกันโอ้อวดความลำบากของตนเองประมาณว่า “นี่ตัวเองจบ ป.ตรี ได้แค่ 13,000 บาท ยังไม่บ่นเลย”

คำถามคือ ทำไมเราต้องอวดความลำบาก ทำไมไม่ตั้งคำถามว่า “เอ่อ เค้าจบ ม.6 ได้ตั้ง 30,000 บาท เราจบ ป.ตรีเลยนะ เราต้องได้มากกว่า13,000 สิ”

ทั้งหมดนี้คืออุปสรรคทางวัฒนธรรมทุนนิยมที่เข้มแข็งและสอนให้ทุกคนตัวใครตัวมัน เห็นดีกับระบบใครโกยได้เยอะก็โกยเอาจนสามารถหล่อหลอมให้แรงงานเข้าข้างนายทุนและเจ้านายได้

อ่านมาถึงตรงนี้หลายคนอาจจะกำลังสิ้นหวังในสังคมนี้ว่ามันคงเปลี่ยนไม่ได้แล้ว แต่จากตัวอย่างที่เห็นผลในประเทศต่าง ๆ ที่ประชาชนคน 99% มีชีวิตที่ดีกว่า เพราะพวกเค้าใช้องค์กรภาคประชาชนอย่าง “สหภาพแรงงาน” เป็นเครื่องต่อรองต่อสู้ทั้งทางเศรษฐกิจ, การเมือง และสังคม เพื่อสร้างอำนาจต่อรองและสิทธิในการมีส่วนร่วมในที่ทำงาน

องค์กรลักษณะนี้จะมีค่าสมาชิก มีทุน มีเวลาการทำงาน มีข้อมูลสมาชิก สถิติต่าง ๆ มีการบันทึกปัญหา ความล้มเหลว ความสำเร็จ มีทีมงานอาสาสมัครเข้าร่วมทำงานเคลื่อนไหวรณรงค์ หรือแม้แต่ทีมงานประจำที่รับเงินเดือนจากสหภาพฯ เต็มเวลา มีโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นในการต่อสู้ต่อรองทั้งต่อที่ทำงาน ทุน หรือแม้แต่รัฐ

เรามาถึงช่วงเครื่องมือในการแก้ปัญหาคุณภาพชีวิตของคนส่วนใหญ่ซึ่งอาจจะเริ่มด้วย 3 คำสั้น ๆ ที่อธิบายวิธีการโดยสรุป คือ

1.รู้ตัว

2.รวมตัว

3.ต่อรอง

1.รู้ตัว

คือรู้ก่อนว่าเราเป็นใคร คนเขียนค่อนข้างมั่นใจว่าคนที่กำลังอ่านอยู่ต้องเป็นคนที่ทำงานทุกวัน ถ้าโชคดีหน่อยก็ได้หยุดเสาร์อาทิตย์ เป็นคนธรรมดาที่ต้องทำงานทุกวันเพื่อหาเลี้ยงชีพ เราคือคนทำงาน คือแรงงาน

ไม่ได้มีทรัพย์สินมูลค่าร้อยล้านบาท และไม่ได้มีอำนาจให้คุณให้โทษคนเป็นพันเป็นหมื่น ไม่ต้องพูดถึงเป็นแสนเป็นล้าน เพราะน่าจะต้องเป็นนายทุน เจ้าสัว นายพล สส. สว. นายกรัฐมนตรี เจ้าศักดินา ถึงจะมีเงินและอำนาจขนาดนั้นได้ เพราะฉะนั้นเราไม่ใช่คน 1% พวกนั้น

มีเรื่องนอกจากสถานะทางการเงินและอำนาจแล้ว มีเรื่องความเชื่อด้วย คือ เราเชื่อว่าคนเท่ากันมั้ย? ถ้าเชื่อว่าคนเท่ากัน แปลว่าเรามีจุดร่วมกันทั้งสถานะทางทรัพย์สินและทัศนคติความเชื่อซึ่งทั้ง 2 ปัจจัยสำคัญนี้จะเป็นจุดร่วมทำให้คนรวมตัวกันได้

2.รวมตัว

คือการจัดการด้านต่าง ๆ ซึ่งเป็นงานที่ยิ่งใหญ่และซับซ้อนมาก ต้องใช้ทีมงานหลายสิบคนหรือหลายร้อยคนในการลงแรง รวบรวมทรัพยากรต่าง ๆ มาเพื่อก่อร่างองค์กรที่จะเป็นพื้นที่กักเก็บข้อมูลสมาชิก, เงินทุน, เวลาในการทำงาน, ผลผลิต, บันทึกประวัติการต่อสู้, ทำการตลาดโฆษณา สร้างวัฒนธรรมการตระหนักรู้ เพื่อการรวบรวมคนทำงานแรงงานจากหลากหลายภาคอุตสาหกรรมมาไว้ด้วยกันอย่างใกล้ชิด เพื่อเป็นการเพิ่มอำนาจในการต่อสู้ต่อรอง

3.ต่อรอง

คือแบ่งออกเป็นสเกลเล็ก, กลาง, ใหญ่ โอกาสในการต่อรองสำเร็จหรือไม่ขึ้นอยู่กับข้อ 1. และ 2. นั่นคือจำนวนคนของคนที่รู้ตัวว่า ตัวเองเป็นคนทำงานและเราเป็นพวกเดียวกัน

เล็ก คือ ในที่ทำงานเดี่ยว ๆ ในบริษัท ในโรงเรียน ในโรงงาน ในโรงพยาบาล ในท้องถิ่น โรงสีข้าว ชาวนาเช่าที่ในอำเภอ ฯลฯ หรือรายกรณีอย่าง เคสโดนเลิกจ้างไม่เป็นธรรม, บังคับทำโอที, ค่าแรงต่ำกว่ากฎหมายกำหนด, ไม่จ่ายค่าชดเชยเลิกจ้าง ฯลฯ

ส่งผลลัพธ์เป็นรายย่อย เป็นครั้ง ๆ เป็นคน ๆ หรือกลุ่มเล็ก ๆ ที่จะได้รับผลประโยชน์หรือได้รับการแก้ไขปัญหา

กลาง คือ ในระดับภาคอุตสาหกรรม เช่น ภาคบริการ, บุคลากรทางการแพทย์, บุคลากรทางการศึกษา, พนักงาน กทม. เช่น กดดันให้กระทรวงสาธารณสุขออกกฎและบังคับใช้เรื่อง ชม.การทำงานไม่เกิน 48 ชม.ต่ออาทิตย์, เรียกร้องกดดันเรื่องการบรรจุพนักงาน กทม. และขยับฐานเงินเดือนทุกคน เป็นต้น เหล่านี้ส่งผลลัพธ์เป็นกลุ่มคนขนาดใหญ่ที่จะได้รับการแก้ปัญหาและได้รับผลประโยชน์

ใหญ่ คือ ในระดับประเทศหรือสังคม เช่น รัฐสวัสดิการถ้วนหน้า, บำนาญประชาชน, สวัสดิการเด็กถ้วนหน้า, Social housing, สวัสดิการสาธารณสุขถ้วนหน้าเทียบเท่าข้าราชการ ฯลฯ ส่งผลลัพธ์ถึงทุกคนในสังคมแบบถ้วนหน้า

ทั้ง 3 คำนี้ รู้ตัว รวมตัว ต่อรอง คือลูปของการพอกพูนพลังอำนาจของสหภาพแรงงาน มีคนตั้งต้นรวมตัวกัน แก้ไขปัญหาสำเร็จ ขายไอเดียสำเร็จ ก็จะมีคนเข้าร่วมมากยิ่งขึ้น ยิ่งมีคนรู้ตัวและเข้าร่วมมากยิ่งขึ้น พลังอำนาจในการต่อรองเพื่อแก้ปัญหาและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนทำงานทุกคน ก็จะเพิ่มมากยิ่งขึ้น

สถานการณ์ปัจจุบันของการรวมตัวในไทยมีน้อยมากอัตราคนเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานในไทยแค่ 1.6% เท่านั้น ในขณะที่อัตราคนเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานในประเทศแถบสแกนดิเนเวียคือ 49-92%

สวีเดน 70%

นอร์เวย์ 49%

ฟินแลนด์ 75%

เดนมาร์ก 69%

ไอซ์แลนด์ 92%

ตัวเลขนี้ส่งผลโดยตรงต่อประชาธิปไตยในที่ทำงานที่ประเทศเหล่านั้นมีมากกว่า อย่างเช่น เหตุการณ์แมคโดนัลที่เดนมาร์ก ปกติแมคโดนัลเมื่อเข้าไปทำธุรกิจที่ประเทศใดก็จะบ่อนทำลายสหภาพแรงงานเพื่อทำลายอำนาจต่อรองของคนทำงานเพื่อให้บริษัทสามารถกดค่าแรง ตัดสวัสดิการ สร้างความได้เปรียบแก่บริษัทและเพิ่มกำไรสูงสุดให้แก่ผู้บริหารและผู้ถือหุ้น แต่เมื่อแมคโดนัลมาทำธุรกิจที่เดนมาร์กกลับไม่สามารถทำลายสหภาพแรงงานได้สำเร็จ ทำให้ค่าแรงของพนักงานที่นั่นอยู่ที่ 770 บาท ต่อชั่วโมง ในขณะที่ราคาแมคโดนัลที่นั่นไม่ได้ต่างจากที่อเมริกา แต่แรงงานแมคโดนัลในอเมริกากลับมีค่าแรง 270 บาทต่อ ชม. นี่คือตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมว่า การรวมตัวกันเป็นสหภาพแรงงานที่เหนียวแน่น ส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตคนทำงาน

และประเทศเหล่านั้นยังมีรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า คนทำงาน คนส่วนใหญ่จึงมีคุณภาพชีวิตที่สุขสมบูรณ์กว่า จนติดอันดับประเทศที่คนมีความสุขที่สุด ซึ่งก็เกิดจากการต่อสู้ ประท้วงหยุดงานไม่รู้กี่ครั้ง ของสหภาพแรงงานที่นั่นเช่นกัน

จึงทำให้เห็นว่าไทยที่ยังเป็นรัฐเผด็จการและกลายเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำติดอันดับต้น ๆ ของโลก ชีวิตคนแย่ เพราะที่ผ่านมาไม่มีสหภาพแรงงานที่สู้เพื่อคน 99%

หลายคนอาจจะเลือกที่จะหนีไปที่อื่น แต่การย้ายประเทศก็ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับคนส่วนใหญ่ที่ไม่ได้มีต้นทุนชีวิตที่มากพอจะเข้าถึงโอกาสนั้น เมื่อการหนีไม่ใช่ทางที่เป็นไปได้ง่าย ๆ การเลือกที่จะลุกขึ้นสู้ อาจจะมีความเป็นไปได้มากกว่า

สิบปีก่อนเรื่องเจ้าเป็นเรื่องที่ไม่สามารถแตะต้องพูดถึงได้ แต่ตอนนี้พรรคการเมืองอย่างพรรคก้าวไกลที่มีนโยบายชัดเจนในการแก้ไขมาตรา 112, การปฏิรูปกองทัพ และส่งเสริมการรวมตัวกันของแรงงาน กลับชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายจากคะแนน 14 ล้านเสียง ทำให้เห็นว่า “สังคมเราเปลี่ยนแปลงได้ และเปลี่ยนมาไกลมาก”

แต่การหวังพึ่งแต่พรรคการเมืองและการหย่อนบัตรเลือกตั้งแค่อย่างเดียวคงไม่พอ เราต้องสร้างหลักประกันอย่างยั่งยืนผ่านองค์กรภาคประชาชนอย่างสหภาพแรงงานด้วย ในประเทศที่คน 99% มีชีวิตที่ดีนั้น พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยไม่ได้ต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว แต่มีสหภาพแรงงานคอยกดดันและตรวจสอบอยู่เสมอ พร้อมกับต่อสู้ต่อรองเพื่อชีวิตที่ดีกว่าของคนในทุกสาขาอาชีพทุกภาคอุตสาหกรรม

สุดท้ายนี้จึงเชิญชวนให้คนอ่านทุกท่าน รู้ตัว รวมตัว และต่อรอง เพื่อสร้างประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และในที่ทำงานอย่างยั่งยืนในสังคมเรา