ไกลบ้านเพราะการเมือง 14 ปีของการลี้ภัยและประชาธิปไตยที่ทลายเจ้า-ปืน-ทุนของ ‘จรรยา ยิ้มประเสริฐ’ - Decode
Reading Time: 5 minutes

ทุกวันนี้คุณใช้เวลากลับบ้านนานเท่าไหร่?

สำหรับจรรยา ยิ้มประเสริฐ ผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 ปีนี้คือปีที่ 14 ที่จรรยายังไม่ได้กลับบ้านและต้องลี้ภัยทางการเมืองอยู่ที่ประเทศฟินแลนด์

ฉากชีวิตของจรรยา จากเด็กเรียนดีแห่งบางปลาม้ากลายเป็นคนไม่รักในหลวง สู่ข้อถกเถียงมาตรา 112 ในวันที่กฎหมายภายใต้ความจงรักภักดีนี้ยังบีบบังคับให้ใครหลายคนต้องไกลบ้าน ไม่ได้กลับบ้าน หรือกลับบ้านเพียงร่างที่ไร้วิญญาน

ถึงเวลาสร้างประวัติศาสตร์ฉบับประชาชน เขียนเครื่องหมายคำถามตัวใหญ่กับการถูกทำให้หายไปอำนาจรวมตัวต่อรองของประชาชนต่อสถาบันกษัตริย์ คณะรัฐประหาร ทุนผูกขาด รวมถึงรัฐบาลอภิสิทธิ์และพรรคเพื่อไทย ในความขัดแย้งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สังคมไทยกำลังก้าวข้ามความขัดแย้งแบบใดกันแน่

58 ปีตลอดชีวิต 14 ปีที่ต้องลี้ภัยกับ 1 ความหวังของจรรยา สังคมไทยในวันข้างหน้าจะไม่มีคนรุ่นใหม่คนไหนต้องลี้ภัยอีก

ภราดรภาพที่หายไปกับผู้ลี้ภัยที่เพิ่มขึ้น

“สิ่งหนึ่งที่ชนชั้นนำได้ทำลายไปจนสิ้นจากประชาชนคืออำนาจการรวมตัว และเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้ผู้ลี้ภัยมีอัตราที่สูงมากขึ้นเรื่อย ๆ”

จรรยาเปิดประเด็นด้วยปัญหาที่เป็นรากฐานของประเทศไทย คือการที่สังคมถูกทำลายการรวมตัวต่อรองไปจนสิ้น เป็นการสร้างความกลัวและโฆษณาชวนเชื่อซึ่งเกิดจากสามเหลี่ยมอำนาจที่ฝังลึกในสังคมไทยอย่าง สถาบันกษัตริย์ ทหาร และทุนผูกขาด

“มันเริ่มต้นตั้งแต่การล้ม พรบ.แรงงานฉบับปี 2499 และการส้ราง พรบ.แรงงานฉบับ 2518 ออกมาเพื่อสลายขั้วการรวมตัวต่อรองของ กรรมกร-ชาวนา-นักศึกษา โดยทำให้ พรบ.แรงงานสัมพันธ์ กีดกั้นกลุ่ม เกษตรกร และข้าราชการ และแรงงานที่ไม่มีนายจ้างตามสัญญา ไม่ให้ตั้งสหภาพแรงงานได้ ทำให้การตั้งสหภาพแรงงานเป็นในระดับสถานประกอบการ ไม่สามารถตั้งสหภาพแรงงานตามอุตสาหกรรมได้ และมีข้อห้ามมากมายเรื่องคุณลักษณะของกรรมการและสมาชิก และการไม่ยุ่งกับการเมือง

มันคือการทำลายสำนึกทางชนชั้นผ่านการขีดเส้นการรวมตัวของพวกเรา จากแรงงานสู่การแบ่งแยกชนชั้น และการรวมกลุ่มเพื่อเรียกร้องของประชาชนจนถึงทุกวันนี้”

จรรยากล่าวว่า ในขณะที่เราสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตดี ๆ ผ่านการรวมตัวเรียกร้องได้ แต่เมื่อการรวมตัวถูกทำลายลง สังคมไทยจึงถูกทำให้คาดหวังคุณภาพชีวิตที่ดีจากการพระราชทานในรูปแบบต่าง ๆ และความสงบสุขแบบฉบับรัฐบาลทหาร

ในขณะที่กลุ่มทุนเองก็อยู่เบื้องหลังมาอย่างยาวนาน โดยแอบอิงผลประโยชน์จากการผูกขาดทางอำนาจมาจนถึงผูกขาดทางการตลาด ซึ่งจากการทำลาย พ.ร.บ.แรงงานเมื่อปี 2518 จะเห็นได้ชัดว่าเมื่อแรงงานและประชาชนต้องการจะเปลี่ยนแปลงสังคมก็ถูกปิดปากด้วยปลายกระบอกปืนเสมอ

เมื่อการลุกฮือกับกลุ่มทุนของแรงงานคือภาพที่สามารถเกิดขึ้นได้เช่นกันกับชนชั้นนำ ทั้งทหารและสถาบันกษัตริย์ จรรยากล่าวว่า พวกเขาเลยทำลายการรวมตัวของพวกเรา ตั้งแต่รูปธรรมอย่างการก่อตั้งสหภาพไปจนถึงระดับความเชื่ออย่างการแบ่งแยกสำนึกทางชนชั้นเพื่อที่จะไม่ให้พวกเรารวมตัวกันได้อีก

“มันทำให้การเมืองไทยวันนี้มันไม่เชื่อในเรื่องการรวมตัวต่อรอง คนไม่เชื่อว่าท้องถนนคือทางที่จะพาพวกเขาไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ พวกเขาไม่เชื่อแม้กระทั่งเงินที่ต่ำเกินไปจากน้ำพักน้ำแรงของตัวเอง และมันนำไปสู่การไม่เชื่ออำนาจต่อรองแบบตัวแทนหรือการเลือกผู้แทนเข้าไปในสภา มันคือการทำลายรากฐานของประชาธิปไตยและผูกขาดอำนาจไว้ที่ชนชั้นนำ ซึ่งมันยังส่งผลมาจนถึงทุกวันนี้” จรรยา กล่าว

จรรยายังเล่าถึงภาพของการรวมตัวต่อรองแบบตัวแทนในทั่วโลก ในขณะที่สหรัฐอเมริกา นั้นจะเป็นแบบ 2 ขั้วความคิด ซึ่งสามารถตอบสนองคนได้ทั้งประเทศ หรืออย่างยุโรป ที่มีพรรคอุดมการณ์ที่สร้างมาเพื่อตอบโจทย์ด้านนั้น ๆ อย่างพรรคฝ่ายซ้าย พรรคสิ่งแวดล้อม เป็นต้น มันทำให้ประชาชนได้ใช้อำนาจเพื่อเลือกตัวแทนเข้าไปสร้างการเมืองที่พวกเขาต้องการได้อย่างตรงไปตรงมา

ในขณะที่การเมืองไทย เสถียรภาพทางการเมืองไม่ได้ขึ้นอยู่กับอุดมการณ์หรือผลการเลือกตั้งที่ชี้ขาด แต่ขึ้นอยู่กับการรัฐประหาร โดยเหตุผลในการรัฐประหารแต่ละครั้งถูกอ้างเพื่อจัดการความสงบเรียบร้อยในสังคมจากกลุ่มม็อบ ในขณะที่ม็อบเหล่านี้คือการรวมตัวเรียกร้องของประชาชนทั้งทางการเมือง ทั้งความเป็นอยู่ และความเป็นธรรมในสังคม

เมื่อเจ้า ปืน ทุน สามารถถือครองเสถียรภาพทางการเมืองมากเกินไป มันทำให้ไม่เกิดพรรคการเมืองอุดมการณ์ เพราะพรรคอุดมการณ์ที่เข้าร่วมสนามการเมืองก็ต้องย้ายไปอิงซบกับผู้มีอำนาจเพื่อที่จะให้พรรคของตัวเองอยู่รอด และเมื่อพรรคอุดมการณ์แปรเปลี่ยนจุดยืนของตัวเอง ก็กลายเป็นภาพที่สังคมไทยชินตานั่นก็คือไม่มีพรรคการเมืองหรือตัวแทนใดสามารถเป็นปากเสียงให้พวกเราได้เลย

หากมองกลับไปถึงการต้องโยกย้ายของจรรยา ก็เกิดจากการรัฐประหารทั้ง 2 ครั้ง ตั้งแต่การตัดสินใจออกมาเคลื่อนไหวอย่างชัดเจนช่วงปี 2549 มาจนถึงการสังหารหมู่คนเสื้อแดงในปี 2553 และเป็นชนวนขัดแย้งให้เกิดข้ออ้างในการรัฐประหารเมื่อปี 2557

การเมืองไทยตั้งแต่ปี 2549 ไม่เคยมีความเสถียรถึง 4 ปีแม้แต่รัฐบาลเดียว รวมถึงการรวมตัวต่อรองของประชาชนก็จบที่ปลายกระบอกปืนทุกครั้ง

“ถ้าถามว่าการรวมตัวต่อรองไหนที่เราชื่นชม ก็คือกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ออกมาตั้งแต่ปี 2563 พวกเขาเหล่านี้เอาจริงและต้องต่อสู้กับมรดกความล้มเหลวที่คนรุ่นก่อนทิ้งไว้ให้ พวกเขานี่แหละที่เชื่อว่าการรวมตัวคือพลังที่สำคัญของประชาชน แต่สังคมก็ยังไม่ได้เชื่อแบบนั้น คำถามคือเราต้องสูญเสียคนเหล่านี้ไปอีกเท่าไหร่เราถึงจะรวมตัวกันได้” จรรยา กล่าว

การรวมตัวที่ว่านี้ไม่ได้นับรวมแค่ข้อเรียกร้องเสรีภาพทางการเมืองเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงรัฐสวัสดิการ การจัดการทรัพยากร การกระจายอำนาจ ที่ชนชั้นนำได้ผูกขาดไว้มาเป็นเวลานาน

“ถ้าหากเกิดรัฐสวัสดิการแล้วถุงยังชีพจะมีประโยชน์อะไร ถ้าหากเรามีการจัดการเมืองที่ดีตอนน้ำท่วมทหารจะยังต้องมาวิดน้ำอยู่ไหม

นี่คือสิ่งสำคัญที่การรวมตัวต่อรองจะทำให้เกิดการจัดระเบียบของสังคมใหม่อีกครั้ง”

หากการรวมตัวบนท้องถนนไม่สำเร็จ ซ้ำร้ายยังถูกปิดปากด้วยความรุนแรงจากรัฐ จึงเป็นผลให้อำนาจต่อรองแบบตัวแทนในรัฐสภาก็ไม่สัมฤทธิ์ผลและสามารถที่จะเป็นปากเสียงให้กับประชาชนได้จริง ๆ 

และเพราะเสถียรภาพทางการเมืองไทยวันนี้ยังไปไม่ถึงฝั่งฝัน จึงยังมีคนที่ต้องการจะรวมตัวเรียกร้องต้องจากบ้านไปไกล ทั้งแบบที่ต้องนับวันถอยหลังออกจากคุก นับหิมะที่ผ่านไปจากซีกโลกเหนือ หรือบางครอบครัวก็นับนิ้วกี่นิ้วก็ไม่พอ เมื่อคนที่พวกเขารอไม่มีวันจะกลับมา

คำถามของลูกคนที่ 7 ณ บางปลาม้า

ผู้ลี้ภัยหลายคนต่างเป็นมนุษย์ธรรมดาไม่ต่างจากเรา ๆ ที่ผ่านการวิ่งเล่นซนตามประสาเด็ก สังสรรค์ตามประสาวัยรุ่น ก่อนที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ถูกรัฐตีตราว่าเป็นคนล้มเจ้าและถูกทำให้กลายเป็นปีศาจในสังคมไทย… จรรยาก็เป็นหนึ่งในนั้น

จรรยาเกิดและเติบโตที่ อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี เป็นลูกคนที่ 7 จากพี่น้องทั้งหมด 9 คน หลังจากพบว่าป่วยเป็นธาลัสซีเมียตั้งแต่ยังเล็ก ชีวิตวัยเด็กของจรรยาจึงไม่โลดโผนเหมือนเด็กต่างจังหวัดคนอื่นนัก แต่ก็เรียนดีจนได้เข้าศึกษาที่โรงเรียนชื่อดังในอำเภอ เป็นเรื่องธรรมดาแต่น่าแปลกใจของลูกสาวคนสุดท้องที่ได้เรียนต่อยอดขั้นสูงในสมัยนั้น

“พอรู้ว่าเราป่วยที่บ้านก็ไม่ได้ให้ทำอะไรเยอะ เลยเหมือนเรียนอย่างเดียว ก็มีเล่นกับเพื่อน ๆ บ้างแต่ไม่มากนัก จนกระทั่งจะสอบเข้าชั้นมัธยมพ่อก็บอกว่าถ้าสอบได้ที่ 1 จะให้เรียนต่อ แต่พอไปสอบจริง ๆ ได้ที่ 4 มาแทน แต่มันเป็นที่ 4 จากทั้งอำเภอไง พ่อก็เลยให้เรียนมาเรื่อยจนกระทั่งสอบเข้ามหาวิทยาลัย”

จรรยาโยกย้ายจากบางปลาม้ามาอยู่มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยเลือกเรียนในคณะอักษรศาสตร์ เอกวิชาสังคมศาสตร์และการพัฒนา ในช่วงวัยและแวดล้อมที่ทำให้สนใจความเปลี่ยนไปและความเหลื่อมล้ำที่คงอยู่ของสังคม จรรยาได้เข้าร่วมค่ายอาสาพัฒนาชนบทของสังคม นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการตั้งคำถามถึงคุณภาพชีวิตของประชาชนคนข้างล่าง ทำไมในหนังสือที่จรรยาได้อ่านก็ยังพูดถึงภาพที่คณะชาวอาสาไปเจอมาไม่ต่างกันแม้จะผ่านมา 10 ปี 20 ปี แล้วก็ตาม

ภาพของชาวชาติพันธุ์ที่ยังไร้ซึ่งสาธารณูปโภคเข้าถึง ภาพของแรงงานพลัดถิ่นที่ได้เงินไม่พอกิน ทำให้จรรยาตัดสินใจทำงานในด้านแรงงานตั้งแต่นั้น จรรยาทำงานในองค์กรภาคประชาสังคมด้านแรงงานอยู่หลายแห่ง เพื่อที่จะเรียกร้องสิทธิแรงงานที่โดนกดขี่ แต่ยิ่งเรียกร้องไปก็ยิ่งมีคำถามว่าท้ายที่สุดต้นตอของปัญหานี้ในสังคมไทยมันเกิดจากอะไร

“ตอนเราเรียนอยู่มัธยม เรายังรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนส่วนมาก แต่พอเข้ามหาวิทยาลัยเราพึ่งรู้ตัวว่าเราเองเนี่ยแหละเป็นคนส่วนน้อย เป็นคนส่วนน้อยที่มีจำนวนมากในประเทศ มันเลยทำให้ตัดสินใจที่อยากจะขับเคลื่อนประเด็นเหล่านี้ เพื่อคุณภาพชีวิตของคนตัวเล็กตัวน้อยที่มีอยู่มหาศาลในสังคม”

จรรยาเริ่มเขียนหนังสือเพื่อที่จะบอกเล่า เรียบเรียง และบรรลุการทลายโครงสร้างของสังคมไทย โดยในหนังสือเล่มแรกของจรรยาคือ ‘ไพร่สู้’ โดยจรรยาต้องการจะบอกเล่าประวัติศาสตร์การต่อสู้ของไพร่หรือผู้นำแรงงาน ผู้นำชุมชนต่าง ๆ ที่สามารถพาให้สังคมไปถึงประชาธิปไตยได้ รวมถึงหนังสืออีกหลายเล่มที่เป็นเหมือนตำราตาสว่างที่ล้ำ(เกิน)สมัย

อีกเล่มที่น่าสนใจคือ ‘70 ปีแห่งการคุกคามเสรีภาพ’ ซึ่งเรียบเรียงประวัติศาสตร์การสูญเสียของประชาชน ซึ่งแตกต่างจากการรวบรวมวิจัยชิ้นอื่น ๆ ที่มีประชาชนที่ต้องตายจากการต่อสู้ทางการเมืองนอกเหนือจากบนท้องถนนอีกจำนวนมาก และการต่อสู้หลาย ๆ ครั้งนั้นสามารถนำมาซึ่งความก้าวหน้าทางประชาธิปไตยของไทย แต่รัฐกลับพยายามปิดเงียบไม่ให้สังคมได้รับรู้เรื่องราวของประชาชนเหล่านี้

“ในหน้าประวัติศาสตร์ของสังคมไทย มักจะมีแต่เจ้าและชนชั้นนำ แต่แทบไม่มีพื้นที่ให้คนธรรมดา แรงงาน หรือผู้นำอื่น ๆ เลย เราเลยต้องการจะบันทึกประวัติศาสตร์ว่าการเมืองไทยต้องมีหน้าของพวกเขาอยู่ หรืออย่างน้อยขอให้มีชื่อของพวกเขาติดอยู่ในประวัติศาสตร์ เพราะพวกเขาคือส่วนสำคัญที่ทำให้สังคมไทยวันนี้มีประชาธิปไตยที่งอกงาม” จรรยา กล่าว

ความต้องการที่จะทลายโครงสร้างผ่านการวิพากษ์สถาบันกษัตริย์ของจรรยาเข้มข้นขึ้นทุกขณะ จนกระทั่งหนังสือ ‘กว่าจะบอกได้ว่า ทำไมไม่รักในหลวง’ ได้เผยแพร่หนังสือเล่มนี้เองก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ชื่อของจรรยาปรากฏขึ้นในสังคมและรู้จักจรรยาในฐานะ คนไม่รักในหลวง

จรรยาได้ทำการรวบรวมข้อมูลการใช้อำนาจนำของราชวงศ์จักรีผ่านการฉายภาพคุณภาพชีวิตที่ผ่านมาของประชาชน ในแง่หนึ่งหนังสือเล่มนี้ไม่ได้เพียงแต่เป็นการทำงานและการตัดสินใจครั้งใหญ่ของจรรยา แต่ครั้งนี้ยังหมายถึงการสั่นคลอนความเชื่อที่ถูกสั่งปิดตายของสังคมด้วยเช่นกัน

“มีหมด ทั้งมาป้วนเปี้ยน ทั้งส่งจดหมายข่มขู่ ถ้าในโซเชียลนี่ไม่ต้องพูดถึงทั้งในคอมเมนท์ทั้งในแชท เรายังเซฟเก็บไว้เลย ถ้านับจริง ๆ น่าจะได้หลายร้อยหน้า” จรรยาเล่าถึงสิ่งที่คนล้มเจ้าในสมัยนั้นต้องพบเจอ 

ท้ายที่สุด จรรยากลายเป็นผู้ต้องหาคดี 112 ถึง 2 คดี และได้กลายเป็นคนล้มเจ้าอย่างเต็มตัว

การเป็นคนล้มเจ้าของสังคม ณ ขณะนั้นคือความยากลำบาก เนื่องจากสังคมอนุญาตให้พวกเขาต้องโดนความรุนแรงทุกรูปแบบ ทั้งการข่มขู่ การก่นด่า และอาจหมายถึงการอุ้มหายซ้อมทรมานอีกด้วย

“ยิ่งเราทำงานไปเรื่อย ๆ เราก็ตั้งคำถามกับตัวเองว่าการเป็นภาคประชาสังคมที่ช่วยเหลือแรงงาน เราจะทำอย่างนั้นไปอย่างเดียวเลยหรือ เราเลยตัดสินใจที่จะต้องวิพากษ์ต้นตอของโครงสร้างความเหลื่อมล้ำ หนังสือเล่มนั้นคือความพยายามที่เราชี้เป้าให้เห็นโดยตรงว่า สถาบันกษัตริย์ผูกขาดอำนาจกับสังคมไทยอย่างไร แต่ก็แน่นอนว่าสถาบันในตอนนั้นยังผูกขาดอำนาจไว้กับสังคมได้อย่างเหนียวแน่นทำให้เราเองที่ต้องกลายเป็นอื่นในสังคมอีกครั้ง”

“เพราะการเป็นคนมีอุดมการณ์ในประเทศนี้ ถึงถูกอุ้มซ้อม ทรมาน และถูกบังคับสูญหาย” จรรยากล่าวเสริมว่า หรือจริง ๆ อาจจะผ่านมาหลายสิบปีแล้วก็ได้ ที่ประชาธิปไตยถูกอุ้มหายไปจากสังคมไทยเช่นกัน

ฟางเส้นสุดท้าย ณ ราชประสงค์

ในยุคสมัยนั้น จรรยาไม่ได้เป็นแค่คนล้มเจ้า แต่จรรยาเป็นคนเสื้อแดงด้วยเช่นกัน

แต่แล้ววันหนึ่ง สีแดงไม่ใช่แค่สีเสื้อที่นิยามการเคลื่อนไหวทางการเมืองกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่กลับกลายเป็นความโกรธแค้นที่เสื้อของประชาชนถูกย้อมเป็นสีแดงด้วยเลือด

เมื่อในปี 2553 ความรุนแรงถูกอนุญาตให้ใช้กับคนเสื้อแดงและสังคมยอมรับได้เพราะคนเสื้อแดงเป็นพวกล้มเจ้า

“พอพูดว่าเสื้อแดงมันไม่ได้มีแค่คนที่เชียร์ทักษิณ มันมีแดงหลายเฉดอยู่ในนั้น ซึ่งสำหรับเราสีแดงมันถูกใช้สำหรับแรงงานมาตั้งนานแล้ว คนเสื้อแดงในความหมายของเรามันคือคนที่ต่อสู้เพื่อประชาชนหรือไพร่อย่างเรา ๆ ถ้าถามว่าเราเป็นคนเสื้อแดงก็ตอบว่าใช่ เป็นแดงไพร่ที่ต่อสู้กับระบบอำมาตย์”

จาก “ปฏิบัติการขอคืนพื้นที่” ในเดือนเมษายน สู่ “ปฏิบัติการกระชับวงล้อม” ในเดือนพฤษภาคม ปี 2553 ไม่ว่าจะด้วยผังล้มเจ้าจาก ศอฉ. ด้วยการประกาศสงครามแห่งชนชั้น ด้วยเหตุทั้งหมดนี้ทำให้ ‘พฤษภา 53’ กลายเป็นเหตุการณ์ที่จำไม่ลงและไม่ถูกชำระสะสางโดยเฉพาะกับคนเสื้อแดงที่ชื่อ จรรยา

หลังการสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงในปี 2553 ตัวเลขของผู้เสียชีวิตในพื้นที่สื่อและในความรับรู้ของคนในสังคมมีจำนวนที่แตกต่างกันไป อีกทั้งความสูญเสียที่เกิดขึ้นยังขึ้นอยู่กับใครเป็นคนนับอีกด้วย

ในขณะที่รายงานของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่แต่งตั้งขึ้นโดยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ระบุว่ามีผู้เสียชีวิต 92 ราย บาดเจ็บกว่า 1,500 ราย ในช่วง 69 วันของการชุมนุม นปช.

ทว่ารายงานอีกฉบับจากศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมกรณี เม.ย.-พ.ค. 53 (ศปช.) ชี้ว่ามีผู้สังเวยชีวิตในเหตุการณ์ครั้งนั้น 94 ราย ในจำนวนนี้มีชายไทยอายุราว 20 ปีที่ยังไม่อาจระบุชื่อ-สกุลได้

โดยตัวเลขที่มากที่สุด 98 ราย จากกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ข่าวสด (เป็นประชาชน 88 คนและเจ้าหน้าที่รัฐ 10 คน) แต่ตัวเลขดังกล่าวถูกโต้แย้งว่า รวมเอาผู้เสียชีวิตที่ไม่ได้เกี่ยวกับเหตุสลายการชุมนุมโดยตรงเข้าไปด้วย

แต่เมื่อตรวจผลการไต่สวนการตายในชั้นศาลกลับพบอย่างน้อย 18 รายเสียชีวิตด้วย “กระสุนจากฝั่งเจ้าหน้าที่/ทหาร”

ตัวเลขทั้งหมดนี้คือเครื่องยืนยัน ว่ารัฐได้สร้างปีศาจขึ้นมาและอนุญาตให้สังคมกระทำการรุนแรงต่อพวกเขาได้ และความรุนแรงจากรัฐไม่ได้แค่พรากแค่ชีวิต แต่ยังพรากการมีอยู่ของคนเหล่านั้นให้หายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ด้วย

และในวันที่ฟางเส้นสุดท้ายได้ขาดลงจริง ๆ คือวันที่จรรยารับรู้ว่าเขตอภัยทานกลายเป็นลานอาชญากรรมลอยนวลพ้นผิด และยังพบกระสุนหลายนัดประเดประดังใส่ร่างของคนเสื้อแดงจำนวนมาก

ความเจ็บปวดนี้ถูกผูกโยงกับวาทะกรรมที่ไพร่ต้องการล้มเจ้า ทำให้ทหารและมือที่ 3 ที่ใช้ความรุนแรงจนถึงแก่ชีวิตกับคนเสื้อแดงกลายเป็นผู้พิทักษ์ความสงบสุขของสังคมไทย ท่ามกลางการเช็ดคราบเลือดและการต่อสู้ของคนเสื้อแดงออกจากแยกราชประสงค์ในเช้าวันถัดมา

แม้จะผ่านมาแล้ว 14 ปี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และ สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรีและผอ.ศอฉ. ในขณะนั้น โดยมีกองทัพปฏิบัติการ นำโดยพล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. ในเวลานั้น ก็ยังลอยนวลพ้นผิดและไม่ต้องรับผิดชอบใด ๆ

โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษเป็นโจทก์ฟ้องอภิสิทธิ์และสุเทพ ฐานร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำ หรือฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา แต่ก็โดนศาลชั้นต้นปัดตกทำให้อำนาจการไต่สวนตกไปอยู่ที่ ป.ป.ช. ในปี 2560

ท้ายที่สุด มติของ ป.ป.ช. ดังกล่าวไม่ต่างจากตะปูตอกฝาโลงดอกสุดท้าย ที่นอกจากจะไม่มีคดีร่วมกันฆ่าแล้ว ปฏิบัติการขอคืนพื้นที่และกระชับวงล้อมก็เป็นปฏิบัติการที่ไม่เกินกว่าเหตุ ผู้สั่งการไม่จำเป็นจะต้องรับผิดในการกระทำเหล่านี้

สิ่งที่เหลือทิ้งไว้จากวันที่จำไม่ลง คือการสังหารหมู่กลางกรุงครั้งใหญ่ยังไม่มีผู้รับผิดชอบแม้แต่คนเดียว และคราบน้ำตาของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ใน 1 ปีถัดมา ณ ลานสังหารหมู่ใจกลางเมือง กลางเวทีปราศรัยหาเสียงใหญ่ของพรรคประชาธิปัตย์ กลางสี่แยกราชประสงค์ ว่า ”เป็นวันที่ผมร้องไห้หนักที่สุดในชีวิต”

“นี่มันคือการสังหารหมู่ใจกลางเมือง แล้วยังมีภาครัฐและประชาชนจำนวนมากมาร่วมเก็บกวาดแล้วอ้างว่าความไม่สงบได้ผ่านพ้นไปแล้ว มันเป็นอะไรที่เราทนไม่ได้จริง ๆ มันเป็นมวลอารมณ์ของความโกรธที่ทำไมสังคมถึงยินยอมให้เกิดเรื่องแบบนี้และรัฐกล้าสังหารหมู่ในย่านที่แทบจะหรูที่สุดในเมืองได้” จรรยา กล่าว

จรรยาได้ร่อนหนังสือถึงสมาคมภาคประชาสังคมสากล ถึงการประณามความรุนแรงที่เกิดขึ้น แต่ในมวลภาคประชาสังคมเองไม่ใช่ทุกกลุ่ม ทุกคนที่จะคิดเห็นเช่นเดียวกับจรรยา ทำให้การประณามในครั้งนั้นเป็นผลให้จรรยาตกอยู่ในสถานะคนล้มเจ้าที่ภาคประชาสังคมที่พูดถึงปัญหาของสังคมเลือกที่จะไม่พูดถึงความเลวร้ายครั้งนั้นและยังเลือกที่จะผลักจรรยาออกจากแวดวงนี้

“มีอีกหลายครั้งที่เราพยายามล่ารายชื่อเพื่อเรียกร้องและยื่นต่อภาครัฐในความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับประชาชน แต่คนที่ลงส่วนใหญ่ก็มีแต่ประชาชนด้วยกันทั้งนั้น แต่ภาคประชาสังคมในยุคนั้นกลับเงียบหาย และไม่กล้าพูดแม้ในส่วนงานของตัวเอง”

แม้จรรยาจะเดินทางไปฟินแลนด์ตั้งแต่ปี 2552 แต่หลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมในปี 2553 และท่าทีของรัฐบาลเพื่อไทยหลังชนะการเลือกตั้งในปี 2554 ก็มีแต่การนิรโทษกรรมแบบสุดซอย แต่ยังไม่ได้มีการพูดถึงการแก้ไขและช่วยเหลือคนที่โดนคดี 112 มากนัก

“หลังยิ่งลักษณ์ได้ขึ้นเป็นนายก อย่างน้อยเราหวังว่าสถานการณ์จะดีขึ้น แต่ไม่เลย เพื่อไทยเองก็ไม่ได้ออกมาทำอะไรเพื่อคนเสื้อแดง ทั้ง ๆ ที่เขาออกมาสู้เพื่อพวกคุณ นั่นเป็นความปวดใจของคนที่เคยเชื่อว่าเพื่อไทยคือพรรคที่มีอุดมการณ์และยืนเคียงข้างประชาชน” จรรยากล่าว

จากการโยกย้ายในปี 2553-2554 เพื่อตั้งหลักที่ฟินแลนด์ผ่านการต่อวีซ่าแบบปีต่อปี ทว่า 3 ปีที่รอเพื่อดูท่าทีกลับไม่มีแต่ทีท่าว่าพรรคเพื่อไทยจะมีแผนใด ๆ เพื่อโอบรับคนเห็นต่างที่โดนดำเนินคดีทางการเมืองเช่นจรรยาและคนอื่น ๆ เลย

จนกระทั่งในปลายปี 2556 จรรยาตัดสินใจขอลี้ภัยทางการเมืองแบบไม่มีกำหนดกลับ เนื่องจากประเทศไทยตอนนี้ไม่ปลอดภัยอีกต่อไปสำหรับจรรยาและคนเห็นต่างทางการเมือง

ท้ายที่สุดรัฐบาลยิ่งลักษณ์ภายใต้ความหวังจากประชาชนต่อพรรคเพื่อไทย ก็พ่ายแพ้ต่อม็อบ กปปส. และถูกรัฐประหารในปี 2557 หลังจากรัฐประหารได้เพียง 4 วัน กระทรวงการต่างประเทศได้เพิกถอนพาสปอร์ตของจรรยา พร้อม อ.สมศักดิ์และโกตี๋

แผนการทั้งหมดของรัฐเผด็จการทหารได้กลายเป็นผลให้จรรยาตัดสินใจขอลี้ภัยทางการเมืองที่ประเทศฟินแลนด์อย่างไม่มีกำหนดกลับ และความหวังในการกลับบ้านถูกทำให้ริบหรี่จนแทบดับลงไปอีกครั้ง

ความโดดเดี่ยวในอุณหภูมิติดลบของผู้ลี้ภัย ณ ซีกโลกเหนือ

ในช่วงแรกที่จรรยาย้ายมาอยู่ที่ประเทศฟินแลนด์ ด้วยความที่ต้องไปทำงานต่างแดนบ่อยครั้งจึงไม่ใช่เรื่องยากนัก แต่นับวัน ค่าใช้จ่ายกับเงินที่เหลืออยู่กลับสวนทางกัน จรรยาเลือกที่จะกินน้อยลง ซื้อของน้อยลง เมื่อการทำงานหาเงินของผู้ลี้ภัยทางการเมืองไม่ใช่เรื่องง่ายนัก จรรยาบอกว่านี่คือราคาของการเคลื่อนไหว

“ตอนย้ายมาอยู่ใหม่ ๆ เราก็ยังรู้สึกว่ามันทำให้เราเคลื่อนไหวได้สะดวกมากขึ้น เนื่องจากมาอยู่ในประเทศที่มีเสรีภาพสูง เราเดินทางไปหลายที่เพื่อที่จะเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ทั้งในปารีส เบอร์ลิน 

ซึ่งมีคนไทยจำนวนมากทั้งผู้ลี้ภัยและไม่ใช่มาเรียกร้องกันเยอะ ทั้งหมดนี้มันทำให้เห็นภาพของคนไทยที่ได้เห็นความเจริญและรู้ว่าปัญหาที่คาราคาซังของเมืองไทยคืออะไรกัน”

“แต่ทุกการเคลื่อนไหวมีค่าใช้จ่าย แค่การเดินทางครั้งหนึ่งก็ใช้เงินเป็นหมื่นบาทแล้ว ยิ่งเราเคลื่อนไหวเงินทุนเราก็มีแต่จะหมดไป ๆ ทุกวันนี้เราก็ยังใช้เงินทุนส่วนตัวในการช่วยเหลือพี่น้องแรงงานพลัดถิ่นและขับเคลื่อนประเด็นต่าง ๆ ไม่ได้มีองค์กรไหนมาสนับสนุน”

แม้จรรยาจะเคยชินกับการใช้ชีวิตต่างแดนอยู่บ่อยครั้ง แต่ครั้งนี้ดูเหมือนจะยากกว่าครั้งที่ผ่าน ๆ มา

“จะบอกว่าอยู่คนเดียวมันเหงาไหมก็ไม่เชิง เราเป็นคนที่ชอบหาอะไรทำตลอดเวลา อย่างตอนมาอยู่ใหม่ ๆ ก็มีพี่น้องแรงงานที่เก็บเบอร์รีโดนกดขี่ ขูดรีด เราก็ไปช่วยจนเป็นผลให้เรายังช่วยเหลือพวกเขามาจนถึงปัจจุบัน มันเลยเหมือนมีงานให้ทำตลอดเวลา แต่ก็ไม่ใช่ว่าไม่เจ็บปวด” จรรยาเล่าต่อ

“การย้ายถิ่นมาอยู่คนเดียวในระยะยาว มันทำให้เราต้องลดหลายอย่างลงไปมาก ทั้งการกินการใช้ แต่ปัญหาที่มันใหญ่กว่านั้นมันคือความ suffer จากการที่เราตัวคนเดียว โดยที่เราก็ไม่รู้เลยว่าการคุกคามจะมาจากทางไหนบ้าง ทั้งจากการวิพากษ์สถาบันหรือการทำลายแก๊งค้ามนุษย์เบอร์รีเลือด”

“การลี้ภัยมันคือความโดดเดี่ยวที่หมายถึงการที่คุณต้องใช้ชีวิตคนเดียวหรืออาจจะต้องตายคนเดียว”

ในการไกลบ้านครั้งนี้ยังทำให้จรรยาต้องเสียบ้านที่เคยอาศัยและยังไม่ได้ติดต่อกับที่บ้านมานานแล้ว 14 ปี

“จนเมื่อปี 2563 เราตัดสินใจขายบ้านหลังหนึ่งเพื่อเอามาเป็นทุนในการเคลื่อนไหวทางการเมือง-ช่วยเหลือแรงงาน การเคลื่อนไหวของผู้ลี้ภัยที่อยู่ต่างประเทศอย่างเรา มันไม่ใช่แค่เข้าเนื้อตัวเอง แต่มันเข้าไปถึงบ้านเลยด้วยซ้ำ”

“รวมถึงตลอด 14 ปีมานี้เราไม่ได้คุยกับที่บ้านเลย” จรรยาเอ่ย

“มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสำหรับผู้ลี้ภัยที่ต้องการจะติดต่อกับครอบครัว เราต่างรู้ว่าหลังความคิดถึงจางลง ความไม่ปลอดภัยอาจเพิ่มมากขึ้นสำหรับทั้งเราและคนที่บ้าน”

“มันมีความทุกข์ใจสำหรับผู้ลี้ภัยอยู่แล้ว เมื่อความกดดันมันเริ่มกัดกินคุณทั้งค่าใช้จ่ายหรือข้างในจิตใจคุณ แต่สิ่งที่เราต้องทำต่อคือการใช้ชีวิตแบบไม่ยอมจำนน และเราก็ยังต้องขับเคลื่อนต่อในอุดมการณ์ที่เราตั้งใจไว้”

และความโดดเดี่ยวนี้เองคือสิ่งที่ทำให้จรรยาเชื่อว่า ถ้าเรายังกลัวเสียเองก็ไม่มีวันจะทลายโครงสร้างความเหลื่อมล้ำ หรือมากไปกว่านั้นเราอาจจะต้องมีผู้ลี้ภัยในรุ่นลูกรุ่นหลานต่อไปก็เป็นได้

นิรโทษกรรมไปก็ไร้ค่า ถ้าไม่รวมมาตรา 112

“เราไม่อยากเห็นคนรุ่นใหม่ต้องลี้ภัยอีกแล้ว”

“จุดยืนของเราคือต้องไม่ให้มาตรา 112 ใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ในขณะที่รัฐธรรมนูญกล่าวว่าประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก แต่ทำไมเมื่อแสดงออกถึงใช้ ม. 112 ปิดปากพวกเรา”

จรรยาให้ความเห็นว่า ถ้าการนิรโทษกรรมไม่รวมมาตรา 112 เท่ากับรัฐบาลยังคงทำให้คนที่ออกมาพูดเรื่องสถาบันกษัตริย์เป็นความผิดร้ายแรง และจะไม่ก้าวหน้าใด ๆ ตั้งแต่ครั้งที่ชาวนา นักศึกษา กรรมกรตายเมื่อเดือนตุลาฯ เลย

หากจะนิรโทษกรรมครั้งนี้ต้องนิรโทษกรรมที่ประชาชน ไม่ใช่นิรโทษกรรมให้กลุ่มรัฐประหารอย่างที่ผ่านมา หากได้นิรโทษกรรมประชาชนจริง ๆ นี่คือการชำระประวัติศาสตร์และเป็นก้าวแรกต่อการเอาผิดความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่รัฐตลอดระยะเวลาหลาย 10 ปี

ที่สำคัญการรวมมาตรา 112 จะเป็นการส่งสัญญานจากราชสำนักถึงการปรับตัวในยุคที่สังคมไทยมีความเชื่อที่เปลี่ยนไปต่อสถาบันกษัตริย์

“ฉะนั้นราชสำนักจะต้องส่งสัญญานและต้องยอมรับว่าการฉุดยื้อกับยุคสมัยมีแต่จะทำให้ความนิยมเสื่อมลงไปเร็วขึ้น เพราะฉะนั้นการนิรโทษกรรมในมาตรา 112 นี้ จึงมีความหมายว่าราชสำนักจะปรับตัวกับสังคมที่หมุนไปไวในทิศทางไหนกันแน่”

จรรยามองว่ากฎหมายมาตรา 112 ไม่ต่างจากเกราะคุ้มกันของอนุรักษนิยมที่ใช้เพื่อปกป้องความนิยมจากประชาชน ในขณะเดียวกันกฎหมายนี้ยังเป็นจุดทำลายอนุรักษนิยม หากชนชั้นนำจะต้องการใช้อำนาจเชิงเดี่ยวเพื่อสร้างประโยชน์แก่ตนเองแล้ว พวกเขาต้องยอมรับเสียทีว่าอำนาจแบบนั้นใช้ไม่ได้ผลในสังคมปัจจุบัน เพราะการหันกระบอกปืนใส่ประชาชนอีกครั้งจะไม่ได้รับความกลัวกลับไป แต่จะได้ความโกรธจากประชาชนไปแทน

จรรยายังกล่าวถึงประชาชนกลุ่มอนุรักษนิยม ว่าอำนาจเชิงเดี่ยวที่ชนชั้นนำปลูกฝังพวกเขามานั้นมันเลือนรางลงไปมากในสังคมวันนี้ ถึงเวลาที่พวกเขาต้องยอมรับว่าการหมอบกราบตั้งแต่ครอบครัว โรงเรียน โรงงานนั้นจะยิ่งถูกตั้งคำถามหนักยิ่งขึ้น และความรักต้องไม่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการทำให้ใครสูญหายไป ทั้งชื่อ ตัวตน หรือร่างกายก็ตาม

“นิรโทษกรรมที่เราอยากได้คือต้องรวมตั้งแต่ปี 2540 ช่วงยุคต้นของทักษิณเลย เราคิดว่าความขัดแย้งในปัจจุบันเริ่มต้นตั้งแต่ตอนนั้น ซึ่งต้องรวมทุกคดีทางการเมืองที่ไม่ได้ทำร้ายใคร โดยเฉพาะการรวมมาตรา 112 รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐ-พรรคการเมืองที่โดนกลั่นแกล้งจากคณะรัฐประหาร นี่คือนิรโทษกรรมที่เราคิดว่าหากสำเร็จ สังคมจะเดินไปข้างหน้าด้วยการรวมตัวตั้งคำถามกับแต่ละคดีที่เกิดขึ้น รวมถึงตามหาความเป็นธรรมให้กับความสูญเสีย ซึ่งเกิดจากรัฐบาลที่แอบอิงกับปืน ทุน และเจ้าด้วย”

นิรโทษกรรมฉบับจรรยา ยิ้มประเสริฐ

รวมมาตรา 112
ทุกคดีทางการเมือง(ที่ไม่ก่อให้เกิดความเสียต่อชีวิต)
ครอบคลุมตั้งแต่ปี 2540
รวมเจ้าหน้าที่รัฐ-พรรคการเมืองที่โดนกลั่นแกล้งจากคณะรัฐประหาร
ไม่รวมคณะรัฐประหารและเจ้าหน้าที่รัฐที่สั่งการและใช้ความรุนแรงต่อประชาชน
คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญเป็นโมฆะ

จรรยายังกล่าวถึงคนรุ่นใหม่ที่มีอัตราต้องลี้ภัยสูงขึ้นทุกขณะ ในขณะที่คนรุ่นใหม่ตัดสินใจและถูกบีบให้ย้ายออกไป ชนชั้นนำอาจจะไม่รู้ตัวเลยด้วยซ้ำว่าตัวเองกำลังทำให้แผ่นดินนี้ซึ่งเป็นพื้นที่อำนาจของตัวเองกำลังขาดศักยภาพในการพัฒนาไปไม่รู้เท่าไหร่ต่อเท่าไหร่

ฉะนั้นแล้ว การยกเลิกมาตรา 112 และนิรโทษกรรมมาตรา 112 จึงเป็นสิ่งที่จะทำให้ประเทศไทยได้ก้าวไปข้างหน้าจริง ๆ

จรรยาเน้นย้ำว่า วาทะกรรมล้มเจ้ามันไม่มีอยู่จริง เมื่อการล้มเจ้าไม่ได้โค่นล้มกันได้ง่ายขนาดนั้น ความต้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ยังไม่เคยฆ่าใคร แต่ความจงรักภักดีต่างหากที่ต้องถามตัวเองว่าเคยทำให้ใครต้องเจ็บปวด ถูกกักขัง และต้องทรมานมาแล้วกี่คน

“เราเชื่อว่าหากนิรโทษกรรมได้ สังคมจะเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แต่ถึงสังคมจะได้ประชาธิปไตยมาแล้ว สังคมก็ยังต้องสู้กับปัญหาอื่น ๆ โดยเฉพาะเรื่องทุนผูกขาดซึ่งจะเป็นปัญหาถัดไปของประชาธิปไตย แต่วันนี้ขอไปให้ถึงประชาธิปไตยของประชาชนให้ได้ก่อน เรื่องที่เหลือเดี๋ยวก็มีแรงกลับมาทำกันต่อ”

จรรยายังหวังเป็นอย่างยิ่งว่า พรรคเพื่อไทยในวันนี้จะกล้ายืนหยัดอย่างที่เคยขายพรรคไว้ตั้งแต่สมัยก่อน ในขณะที่มีคนเสื้อแดงต้องตายและไม่ได้รับความยุติธรรม จรรยาคาดหวังว่าความเป็นธรรมจะกลับคืนสู่พวกเขา แต่จากสถานการณ์การบังคับใช้มาตรา 112 ในปัจจุบัน ทำให้ความเชื่อมั่นต่อพรรคยิ่งริบหรี่ และได้แต่ขอให้พรรคเพื่อไทยกล้าที่จะมายืนจุดเดิมที่ประชาชนจำนวนมากเคยศรัทธาผ่านการลงคะแนนเสียงเอาไว้

แม้ในวันนี้จรรยาจะไม่ได้รู้สึกอยากกลับบ้านเท่าแต่ก่อน ทว่า จรรยาเชื่อว่ายังมีคนอีกนับร้อยนับพัน ที่รอจะกลับไปและรอการกลับมาของพวกเขาอยู่

ในสังคมที่คนดีกลัวถูกท้าทายและคนมีอุดมการณ์ถูกบังคับให้สูญหาย กว่า 91 ปีที่ประชาธิปไตยยังไม่เต็มใบ จรรยาเชื่อว่าหากเกิดนิรโทษกรรมที่รวมมาตรา 112 ขึ้นและทำให้การพูดถึงสถาบันกษัตริย์ได้อย่างตรงไปตรงมาคือหลักฐานชิ้นประจักษ์ว่าสังคมไทยได้ก้าวข้ามความขัดแย้งแล้วอย่างแท้จริง

ต้องนับหนึ่งถึงเท่าไหร่ ‘พวกเรา’ ถึงจะได้กลับบ้าน

พาดหัวข้างต้นไม่ได้เขียนผิดแต่อย่างใด หากการกลับบ้านครั้งนี้เกิดขึ้นจริง จะไม่ใช่ความสำเร็จของ ‘พวกเขา’ ผู้ลี้ภัยเท่านั้น แต่ยังหมายถึงชัยชนะก้าวแรกบนประชาธิปไตยเต็มใบของ ‘พวกเรา’ ทุกคน

ตลอดระยะเวลา 14 ปีที่ฟินแลนด์ จรรยายังคงทำงานเคลื่อนไหวในนามกลุ่ม ACT4DEM โดยเฉพาะประเด็นแรงงานเก็บเบอร์รีที่นับว่าเป็นการค้ามนุษย์ข้ามชาติ รวมถึงยังเรียกร้องประชาธิปไตยที่พึงจะเกิดขึ้นในสังคมไทยอยู่เรื่อย ๆ

ความมุมานะและจิตใจที่อยากเห็นสังคมที่เป็นธรรมคือสิ่งที่เป็นภาพจำติดตัวสำหรับจรรยา แต่ที่หลายคนยังไม่เห็นคือภาพของมนุษย์คนหนึ่งที่มีความเจ็บปวด ความเหน็ดเหนื่อย และความโดดเดี่ยว ไม่ต่างจากเรา ๆ

“มันก็มีวันที่ตั้งคำถามกับตัวเองเหมือนกันว่าจะทนไปได้ถึงเมื่อไหร่” จรรยาเอ่ย

“แต่ทั้งชีวิตเรามันเคลื่อนไหวเพื่อช่วยเหลือแรงงานและขับเคลื่อนประชาธิปไตยมาตลอด ทุกอย่างในชีวิตเรามันสั่งสมมาจนเราไม่อาจนิ่งเฉยได้เมื่อเรารู้ว่าปัญหาเหล่านี้มันยังอยู่ ชีวิตเรามันวนเวียนและรายล้อมด้วยการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยทั้งทางตรงและทางอ้อม มันทำให้เรารู้สึกหรือนี่คือความหมายในการมีอยู่ของจรรยากันนะ

ทั้งหมดที่เกิดขึ้นในชีวิตคือสิ่งที่เหมือนคอยบอกเราอยู่เสมอ ว่าถ้าก้อนเนื้อที่อกซ้ายยังเต้นตุบ ๆ อยู่ ก็จงออกไปทำงานเพื่อแรงงานและตามหาประชาธิปไตยจนกว่าจะถึงวันสุดท้ายแล้วกัน”

ตัวจรรยาเองตัดสินใจเลือกที่จะอยู่ที่ฟินแลนด์ แม้จะไม่มีแผนหรือความหวังว่าจะได้กลับไทยแบบแน่ชัด แต่เมื่อถามถึงความฝันที่หากได้กลับไทย จรรยามีหลายอย่างที่อยากจะทำ

“ถ้าได้กลับไทยก็อยากไปคารวะอนุสรณ์ลุงนวมทอง เราเกิดวันเดียวกันกับวันที่แกขับรถชนรถถัง การเสียชีวิตของแกก็เป็นอีกหนึ่งแรงขับที่ทำให้วันนี้ยังสู้ต่อ เราตระหนักถึงขนาดที่ว่าทุกวันเกิดเราจะรำลึกถึงแกมากกว่ามาเฉลิมฉลองวันเกิดตัวเอง”

ความฝันต่อมา จรรยาอยากไปเยี่ยมรัฐสภาแห่งใหม่ที่เกียกกาย จรรยาเล่าว่าอยากไปดูว่ารัฐสภาแห่งนี้เป็นอย่างไรบ้างและผู้แทนทำงานกันอย่างไร รวมถึงอยากนัดเพื่อน ๆ ที่ต่อสู้ด้วยกันไปทานข้าว สังสรรค์กันเนื่องจากไม่ได้เจอกันมานานมากแล้ว

จรรยายังอยากสร้างอนุสรณ์ความสูญเสียและบุคคลสำคัญของประชาชน เพื่อให้ประชาชนได้เรียนรู้จากประวัติศาสตร์และป้องกันความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นในสังคม

“ประเทศนี้ไม่มีพื้นที่ให้คนธรรมดาที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้สังคมเลย ที่มีก็มีแต่เจ้า ขุนนาง ทหาร เราอยากให้มันเกิดพื้นที่เหล่านี้สำหรับประชาชนบ้าง นอกจากที่เราจะได้เรียนรู้เพื่อจดจำประวัติศาสตร์ มันจะทำให้เกิดความรู้สึกว่าประชาชนไม่ใช่แค่หมากตัวหนึ่งในประวัติศาสตร์เท่านั้น คำว่าประชาชนมีความหมายว่าพวกเขาสำคัญและเป็นส่วนสำคัญในการสร้างประเทศนี้ขึ้นมา”

และความฝันสุดท้าย จรรยาอยากกลับไปพบครอบครัว หลัง 14 ปีที่จรรยาไม่ได้ติดต่อที่บ้านเลย การได้กลับไปไทยก็อยากจะไปถามไถ่ พูดคุย หรือกินข้าวสักมื้อก็ยังดี

นอกจากนี้ จรรยายังฝันอยากกลับไปขับเคลื่อนประเด็นแรงงานที่เมืองไทยต่อ โดยมุ่งหวังให้เกิดภราดรภาพอย่างแท้จริงกับสังคมไทย สิ่งนี้เป็นหมุดหมายของประชาธิปไตยที่จรรยาอยากเห็น โดยในสังคมไทยวันนี้ยังไม่ได้ตระหนักถึงปัญหาของแรงงานเท่าที่ควร

“แต่ไม่รู้ชีวิตนี้จะได้กลับไปหรือเปล่านะ” จรรยาหัวเราะในความตลกร้าย

“ไม่รู้ว่าสังคมไทยยังต้องการจรรยาอยู่รึเปล่านะ” จรรยาเอ่ย เมื่อบ้านกลายเป็นที่ ที่ยากจะได้กลับ ความโดดเดี่ยว ความเจ็บปวด บนการแสดงออกที่ต้องแข็งกร้าวและเข้มแข็งตลอดเวลา ไม่เคยเป็นเรื่องง่ายไม่ว่าสำหรับใครก็ตาม

ไม่ใช่เรื่องง่ายของคนย่าง 58 ปีแต่ยังไร้วี่แววว่าวันเกษียณจะมาถึงเมื่อไหร่ หน้าร้อน หน้าหนาว ฤดูใบไม้ผลิและร่วงซ้ำแล้วซ้ำเล่าที่ฟินแลนด์ อะไรกันแน่คือแรงขับที่ทำให้จรรยายังสู้ตลอด 14 ปีที่ผ่านมา?

“เมื่อถึงเวลาตาย เราจะยิ้มรับมัน ว่าในชีวิตนี้เราไม่เสียดายอะไร เราได้ทำทุกอย่างที่เราอยากทำ เราได้ใช้ชีวิตของเราตามความฝันและอุดมการณ์อย่างเต็มที่ที่สุดแล้ว”

“มันเหมือนอย่างน้อยไปเจอหน้าวีรชนคนรากหญ้าที่เราเคยอ่าน เคยศึกษา ที่ต้องตายไปเพราะการเมือง เราก็ไม่จำเป็นต้องหลบหน้าเขา”

“เราแค่อยากมีชีวิตแบบที่ก้มหน้าไม่ใช่เพราะอายฟ้า เงยหน้าไม่ใช่เพราะอายดิน” จรรยาบอกแบบนั้นพร้อมรอยยิ้ม

หลายคนอาจจะมองจรรยาในภาพของคนล้มเจ้า นักเคลื่อนไหวหัวรุนแรง หรือคนไม่รักบ้านเมือง เป็นภาพที่ฉายซ้ำแล้วซ้ำเล่าของกลุ่มคนที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองไม่ว่ายุคสมัยไหนก็ตาม แต่ได้โปรดอย่าลืมไปข้อหนึ่งว่าพวกเขาเหล่านี้คือมนุษย์เฉกเช่นกับเรา

ในความสลับซับซ้อนของโครงสร้างการเมืองไทยทำให้หลายชีวิตกลายเป็นเรื่องยาก แต่ถ้าหากการเมืองดี การตีตั๋วกลับบ้านและการได้ใช้ชีวิตบนแผ่นดินเกิดของอีกหลายชีวิตอาจเป็นเรื่องง่ายมากกว่านี้

ความเหงา ความโกรธ และความหวังของจรรยา เป็นหลักฐานที่ประจักษ์ชัด ว่าทำไมในวันนี้สังคมไทยจำเป็นที่จะต้องนิรโทษกรรมประชาชนผู้เห็นต่างทางการเมืองและถูกดำเนินคดีโดยรัฐ เพราะอย่างน้อยที่สุด หากการนิรโทษกรรมประชาชนผู้เห็นต่างทางการเมืองเกิดขึ้นจริง สิ่งนี้จะเป็นการยืนยันว่าวันนี้ สังคมไทยได้ก้าวข้ามความขัดแย้ง และไม่อยากให้มีใครต้องไกลบ้านเพราะการเมืองอีกแล้ว