เพศกำกวมในสายตารัฐไทยที่ไม่ควรมีใครต้องเกลียดกลัวโครโมโซมตัวเอง - Decode
Reading Time: 3 minutes

“เรามีประจำเดือนหนึ่งครั้งตอนอายุ 21 ปี แล้วมันก็หายไป
หมอบอกว่าเราไม่มีรังไข่ และมดลูกเล็กมากจนเกือบฝ่อ”

พรีส ย้อนความถึงอดีตที่มีแต่คำถามว่าเธอเป็นใคร และทำไมเธอไม่มีสิ่งที่ผู้หญิงหลายคนมี มากกว่าความเข้าใจผิดของสังคม คือ ความไม่เข้าใจในตนเองของคนที่มีภาวะ Intersex หลายคนเคยประสบพบ เธอเล่าว่าเพิ่งจะเข้าใจว่าตนเองมีภาวะ Intersex เมื่อราว ๆ 10 ปีก่อน ซึ่งช่วงเวลาก่อนหน้านั้น เธอรู้เพียงว่าตนเองแตกต่างจาก “กล่องเพศหญิง” ที่สังคมคาดหวังไว้

“พรีสเชื่อแบบนั้น เพราะว่าตอนเกิดก็ถูกกำหนดให้เป็นผู้หญิง” ความทรงจำวัยเด็กของพรีสเจือจางไปตามอายุที่ล่วงเลยไป แต่สิ่งหนึ่งที่ยังคงแจ่มชัดคือ ราวอายุ 13-15 ปี ที่เป็นช่วงเวลาของ “วัยเจริญพันธุ์” ที่เด็กชายจะเริ่มมีน้ำเสียงแตกห้าว อาจมีหนวดเคราคล้ายชายชาตรี ส่วนเด็กหญิงอาจเริ่มมีประจำเดือน หน้าอกผายกลายเป็นหญิงสาว

“ผู้หญิงคนอื่น ๆ เริ่มมีประจำเดือน แต่พรีสไม่มี”

วัยเจริญพันธุ์เป็นช่วงเวลาสำคัญของคน Intersex ที่พวกเขาอาจเริ่มตั้งคำถามต่อร่างกาย ที่พัฒนาไปคนละทางกับกรอบของสังคม เมื่อไม่มีประจำเดือนก็เหมือนกับตนไม่ได้อยู่ในกล่องเพศหญิง ด้วยความรู้สึกแตกต่างจากคนอื่น เธอจึงเริ่มพกผ้าอนามัยไปโรงเรียนตั้งแต่ตอนนั้น

“เพื่อให้ตัวเองได้ถูกโอบรับจากกลุ่มผู้หญิงด้วยกัน” พรีสเริ่มแสดงออกกับเพื่อนว่า หากไม่มีผ้าอนามัยในวันที่มีประจำเดือนให้มาขอที่เธอได้ เธอเริ่มถูกพูดถึงปากต่อปาก หลายคนตอบรับด้วยคำขอขอบคุณ แต่ก็มีหลายคนที่ตอบรับด้วยคำถามที่ว่า “แล้วพรีสไม่ใช้ผ้าอนามัยเหรอ” ซึ่งเธอตอบได้เพียงว่า “ยังไม่มีในวันนี้”

ในวัย 21 ปี พรีสมีประจำเดือนครั้งแรก แต่เพียงครั้งเดียวเท่านั้น และไม่เคยเกิดขึ้นอีก เธอจึงเข้ารับการตรวจภายในและอัลตราซาวด์ เพื่อหาสาเหตุของเรื่องดังกล่าว จนทราบว่าตัวเธอไม่มีช่องคลอด ไม่มีรังไข่ และมดลูกเล็กมากจนเกือบฝ่อ

“เราคิดว่าตัวเองเป็นผู้หญิงพิการ เพราะเกิดมาไม่มีรังไข่และช่องคลอด” ผลการตรวจร่างกายของพรีสเด่นหรา แต่กลับทำให้เธอยิ่งไม่เข้าใจในความเป็นหญิงของตน เพราะแพทย์ต้องการให้เธอรับฮอร์โมนเพศหญิงตลอดชีวิต โดยให้เหตุผลว่า “เพื่อให้ร่างกายคงสภาพความเป็นผู้หญิงไปตลอดชีวิต” สิ้นเสียงคำวินิจฉัยไม่มีเสียงใดอื่น นอกจากเสียงน้ำตา

“เรากลับบ้านมาก็ร้องไห้ และก็รู้สึกว่า ‘เราไม่ใช่ผู้หญิงอยู่แล้วเหรอวะ
แล้วเราเป็นสัตว์ประหลาด หรือเป็นตัวอะไร’ ”

หลังจากนั้นเธอยังคงไปหาหมอ และพบกับถ้อยคำเดิม ๆ ของแพทย์
ที่บอกให้เธอรับฮอร์โมนเพศหญิง จนถึงครั้งหนึ่งที่แพทย์เริ่มถามถึงหน้าอกของเธอ

: มีหน้าอกไหม?

: มี

: งั้นเดี๋ยวหมอทำอัลตราซาวด์ให้นะ

ก่อนหน้านั้น พรีสในวัย 19 ปี เริ่มมีพัฒนาการทางร่างกายตรงส่วนหน้าอกขึ้นเล็กน้อย แต่ผลการตรวจบอกเธอว่า สิ่งที่อยู่บนร่างกายเธอไม่ใช่หน้าอก หากแต่เป็นเนื้องอกที่เจริญผิดที่และแพทย์ยืนยันให้ตัดออก เพราะเนื้องอกนั้นอยู่ในบริเวณที่สามารถพัฒนาไปเป็นมะเร็งได้ “กลับบ้านมาเราก็ร้องไห้อีก” เธอเล่าพลางหัวเราะ

“หน้าอกถูกผูกรวมอยู่ในกล่องความเป็นหญิง หากไม่มีหน้าอกเราก็จะไม่ได้เป็นผู้หญิง” นั่นทำให้เธอตัดสินใจที่จะไม่ไปหาแพทย์อีก และใช้ชีวิตโดยการรับรู้ตัวตนและร่างกายที่แตกต่าง ซึ่งปัจจุบันชิ้นเนื้อส่วนหน้าอกก็ยังไม่ได้พัฒนาการเป็นมะเร็ง แต่มันยังคงเขียวช้ำและมีความเจ็บปวดเมื่อสัมผัส

“เมื่อก่อนเราพยายามยืนยันว่าเราเป็นผู้หญิง
แต่เราไม่สามารถยัดตัวเองลงไปในกล่องผู้หญิงได้”

การยืนยันเริ่มกลายเป็นการต่อต้าน ช่วงแรกที่พรีสเริ่มทำงานเป็นทนายความ ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่ผู้หญิงจะสามารถใส่กางเกงว่าความได้ เธอจึงจำเป็นต้องใส่กระโปรงไปตามคำนำหน้านามของเธอ

“อีกะเทยควาย” เสียงตะโกนด่าของเด็กในศาลเยาวชนดังขึ้น ตอกย้ำทัศนคติของสังคม ณ ขณะนั้น ด้วยร่างกายที่สูงใหญ่ทำให้เธอมีลักษณะคล้ายหญิงข้ามเพศ จนถูกคุณป้าแม่บ้านที่เธอเรียกติดตลกว่า “ตำรวจห้องน้ำ” ยืนยันไม่ให้เธอเข้าห้องน้ำหญิง

“กะเทยห้ามเข้านะ อย่ามาหลอกพี่ พี่รู้” ตำรวจห้องน้ำยืนยันเสียงแข็ง

จนสุดท้ายเธอต้องหยิบบัตรประชาชนให้แม่บ้าน เพื่อยืนยันว่าเธอเป็นผู้หญิงจริง ๆ แต่ถึงอย่างไรแม่บ้านก็ยังไม่เชื่อ จนเธอต้องพกผ้าอนามัย ที่เรียกมันว่าเครื่องรางประจำตัว เพื่อใช้มันสำหรับเข้าห้องน้ำหญิง หรือกระทั่งตอนส่งเอกสารราชการและจั่วหัวว่า “นางสาว” แต่เมื่อถูกเรียกจากเจ้าหน้าที่คัดถ่ายจากศาล เธอกลับถูกเรียกว่า “นาย” และพูดกับเธออีกว่า เป็นกะเทยไม่ต้องอาย มาติดต่อราชการต้องใช้คำนำหน้านามให้ตรงกับบัตรประชาชน

“พอถูกต่อต้านในลักษณะของการเป็นกะเทย
เราก็มีความกลัวในโครโมโซมตัวเอง กลัวความเป็นกะเทย”

เธอยอมรับว่ามันคือความมืดบอด ความเกลียดกลัวดังกล่าวมันทำให้เธอทำร้ายคนอื่นในชุมชน และความรู้สึกนั้นได้สร้างความบอบช้ำอย่างรุนแรง และทำให้เธอเป็นคนร้ายกาจ (Toxic People) ต่อคนอื่นด้วยซ้ำ

ด้วยความรู้สึกดังกล่าวทำให้พรีสกระโดดออกมาจากระบบทวิลักษณ์ รับรู้ตัวตนและร่างกาย ว่าเธอเป็นหนึ่งร่มเงาเล็ก ๆ ของร่มใหญ่ที่เรียกว่า Intersex ซึ่งหมายถึงคนที่มีลักษณะเพศ ทางชีววิทยาไม่ชัดเจน และมีเพศวิถีเป็น Non-Binary ซึ่งหมายถึงคนที่ไม่ได้นิยามตนเองว่า อยู่ในกล่องหญิงหรือกล่องชาย เพราะสำนึกทางเพศของเธอเป็นประสบการณ์ และพัฒนาการด้านร่างกายของเธอสร้างขึ้นจากกรอบที่แตกต่างจากชายและหญิง “จริง ๆ เรามีโครโมโซม XY แต่ก็ไม่เคยตรวจโครโมโซมนะ เพราะว่าไม่ต้องการความชัดเจนขนาดนั้น เราโอเคกับตรงนี้ ”

คนนับล้านใต้ร่ม Intersex

ปัจจุบัน Intersex มีพัฒนาการถึงกว่า 40 กว่ารูปแบบแล้ว ด้วยความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีที่ทำให้เราสามารถตรวจโครโมโซมและอวัยวะภายในได้ผ่านการอัลตราซาวด์ สามารถระดับฮอร์โมน พัฒนาการร่างกายที่อาจแตกต่างไปจากชายหญิงตามระบบทวิลักษณ์ ที่อาจสังเกตได้จากอวัยวะแรกคลอดที่ดูคลุมเครือ

ยกตัวอย่างเช่น Klinefelter Syndrome หรือคนที่มีโครโมโซม XXY ภาวะดังกล่าวคือ ชายที่มีการผลิตฮอร์โมนเพศชายต่ำ อาจทำให้อวัยวะเพศเขามีลักษณะสั้น จำนวนสเปิร์มต่ำ เสี่ยงต่อการมีบุตรยาก หรืออาจมีอาการขยายตัวที่ผิดปกติของเนื้อเยื่อเต้านม

หรือ Turner Syndrome ที่เกิดขึ้นจากการที่มีโครโมโซมเพศหายไปบางส่วน มักจะเกิดขึ้นในเด็กผู้หญิง หากแต่สัญญาณและอาการของมันอาจแตกต่างกันไป บางคนอาจไม่ปรากฏโดยทันที แต่บางคนก็แสดงอาการตั้งแต่เนิ่น ๆ อย่างเช่น ความล้มเหลวในการพัฒนารังไข่ หน้าอกไม่ขยายตัว หรือความบกพร่องทางหัวใจ

“แต่ใช่ว่าคนที่มองได้ด้วยตาว่ามีอวัยวะเพศไม่ชัดเจนจะถูกติ๊กในช่อง Intersex นะ”

การพบทารกแรกคลอดที่ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นชายหรือหญิง คุณกำลังพบ Emergency Case ประโยคที่พรีสเคยค้นพบในเอกสารทางการแพทย์ที่สอนเกี่ยวกับเรื่องเพศ ซึ่งมันพอจะอธิบายได้ถึงความหนักหนาและลำบากใจของแพทย์ในการที่จะเลือกช่องเพศให้เด็ก

ช่วงเมษายน ปี 2564 มีบุคคลหนึ่งติดต่อหาพรีสและเล่าให้เธอฟังว่า มีเด็กคนหนึ่งเกิดที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดกำแพงเพชร โดยเด็กคนนั้นมีภาวะ Intersex ตั้งแต่แรกเกิด และเคสแรกในรอบ 10 ปี นั่นทำให้ทั้งโรงพยาบาลและบิดามารดาของเด็กแตกตื่นอย่างมาก เพราะแพทย์ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรกับเหตุการณ์ดังกล่าว

ความแตกตื่นหลายครั้งนำมาซึ่งการผ่าตัดซ่อมแซมเพศ อาทิ การตัดคลิตอริสให้สั้นลง การตัดองคชาติให้สั้นลงเป็นคลิตอริส หรือการตัดอัณฑะที่มีอยู่ข้างเดียวให้หายไป “การทำลายอวัยวะสืบพันธุ์ เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรง ซึ่งไม่สมควรจะเกิดขึ้นกับคน ๆ หนึ่ง เพราะเขาเอามันกลับมาไม่ได้แล้ว” เธอย้ำ

อย่างไรก็ดี Intersex หลายคนเกิดมาพร้อมกับร่างกายที่ทำงานได้อย่างไม่เต็มที่ อาทิ ไม่มีทวารหนัก ไม่มีท่อปัสสาวะหรือท่อตีบตัน ซึ่งอาจร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตจากการไตวายได้ ฉะนั้นการผ่าตัดในระบบขับถ่ายยังคงเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ แม้เด็กคนนั้นยังเด็กเกินกว่าจะยืนยันด้วยตนเอง “พรีสเองก็เกือบไตวาย ทำให้พรีสรู้ว่าสิ่งนี้สำคัญ” เธออธิบายเพิ่มเติมในฐานะที่เธอ ก็เคยมีภาวะท่อปัสสาวะตีบ

รวมไปถึง สูติบัตรในประเทศไทยยังไม่มีความเป็นเอกภาพ ทำให้สูติบัตรไม่ได้เป็นแบบเดียวกันทั้งประเทศ บางโรงพยาบาลมีช่องสำหรับ Intersex แต่บางโรงพยาบาลกลับไม่มี รวมถึงความเชื่อของแพทย์ที่ว่า การเลือกช่อง Intersex ให้เด็ก จะทำให้เกิดความบอบช้ำในจิตใจ (Trauma) กับเด็ก

“ห้ามผ่าตัดซ่อมแซมเพศกับเด็กทารกแรกคลอดที่เป็น Intersex” เป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องหลักทั้งในไทยและต่างประเทศ เพราะการเป็น Intersex หาได้ผิดแปลกและเป็นธรรมชาติ การซ่อมแซมเพื่อให้เพศถูกต้องเป็นการละเมิดสิทธิของเด็ก เพราะเขายังไม่โตพอที่จะรับรู้ตัวตนของตนเองได้

ซึ่งร่าง พ.ร.บ.รับรองอัตลักษณ์ทางเพศ ที่นำโดยเครือข่ายเพื่อนกะเทยไทย สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย และสมาคมบุคคลข้ามเพศแห่งประเทศไทย ได้บรรจุการห้ามผ่าตัดซ่อมแซมเพศในเด็กทารกแรกคลอด Intersex จนกว่าเด็กหรือบุคคลนั้นจะแสดงความยินยอมด้วยตนเอง รวมถึงห้ามมิให้มีการระบุเพศของเด็กในสูติบัตรจนกว่าจะได้รับการยินยอมจากเด็ก และให้เว้นว่างช่องเพศในสูติบัตร หากเด็กคนนั้นไม่สามารถระบุเพศได้ ซึ่งแม้จะเป็นความก้าวหน้า แต่เรายังคงต้องผลักดันให้ออกมาเป็นกฎหมายให้ได้

การทำงานเพื่อปรับทัศนคติทางความคิดของหมอที่มีต่อทารกที่มีภาวะ Intersex จึงเป็นอีกหนึ่งส่วนที่สำคัญ เพราะนอกจากจะสร้างเกิดพื้นที่ความเข้าใจระหว่างหมอ ผู้ปกครอง และเด็ก ยังส่งผลให้กลุ่มคน Intersex เข้าสู่ระบบบริการทางการแพทย์ หรือบริการต่าง ๆ ของภาครัฐได้ง่ายดายกว่าเดิม

“ถ้าคุณเลือกช่อง Intersex ให้เด็กตั้งแต่แรกคลอด
มันเป็นการบอกเขาอย่างจริงใจว่าเพศกำเนิดของเขาคือ Intersex
และเพศของคนเรามันไม่ได้มีเพียงชายหรือหญิง”

“แต่แม้ภาครัฐจะบอกว่าคน Intersex เปลี่ยนคำนำหน้านามได้ แต่รัฐไม่รู้เลยว่าใครคือคน Intersex” อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ยังกอดรัดฟัดเหวี่ยงมาจนถึงปัจจุบัน เพราะสังคมไทยอาจ มีการยอมรับภาวะ Intersex เพียง 3-4 รูปแบบเท่านั้น ซึ่งเป็นรูปแบบที่แพทย์เห็นว่า “อวัยวะแรกคลอดคลุมเครืออย่างชัดเจน” จนตัดสินใจไม่ได้ว่าทารกนั้นจะเป็นเพศหญิงหรือชาย เขาเหล่านี้อาจได้รับการสนับสนุนบริการทางการแพทย์ สิทธิ์บัตรทอง หรือการเลือกคำนำหน้านาม

อย่างไรก็ดี หลักการนั้นก็ส่งผลเสียอย่างร้ายแรงต่อผู้ที่ไม่ได้อยู่ในหลักคนเพศกำกวมของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่ถูกระบุว่าเป็นหญิงแต่ภาวะอัณฑะตกค้างในช่องท้อง อย่างในกรณีของ เอก ชายหนุ่มที่ตอนแรกคลอดถูกระบุให้เป็นหญิง แต่เมื่อเติบโตไปเรื่อย ๆ กลับมีร่างกายกำยำ คล้ายชายหนุ่มที่เผยแพร่ทาง BBC Thai

อัณฑะที่ตกค้างในช่องท้องนั้นมี 2 รูปแบบ คือ อัณฑะที่สามารถแปลงฮอร์โมนเพศชายที่ผลิตขึ้นให้กลายเป็นฮอร์โมนเพศหญิงได้ และอัณฑะที่ไม่สามารถแปลงฮอร์โมนเพศชายให้เป็นฮอร์โมนเพศหญิง ซึ่งภายนอกเหมือนว่าเอกมีอวัยวะเพศหญิงอย่างเดียว แต่เขามีอัณฑะตกค้างในรูปแบบสอง ส่งผลให้ร่างกายของเขากำยำคล้ายชายหนุ่ม เสียงแตกพร่า และส่งผลให้ชีวิตของเขาเต็มไป ด้วยคำถามต่อร่างกายที่เป็นชาย หากแต่คำนำหน้าของตนเป็นหญิง

ซึ่ง Intersex ที่อยู่นอกหลักการเพศกำกวมของรัฐ จะต้องมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล ทั้งการตรวจโครโมโซม อัลตราซาวด์ที่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ รวมถึงค่าใช้จ่ายแฝงอื่น ๆ และต้องใช้กระบวนการจากเครือข่ายภายนอกเพื่อประสานกับหน่วยงานรัฐ เพื่อฝ่าด่านขั้นตอนแสนยุ่งยากในการเปลี่ยนคำนำหน้านามจนกลายเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับ Intersex

“ถ้าไม่ได้นักข่าวจาก BBC ไป มีใบรับรองไปอย่างเดีย
ก็ไม่แน่ใจว่าพี่เขาจะได้เปลี่ยนคำนำหน้ารึเปล่า”

ฉะนั้น การเปลี่ยนคำนำหน้านามของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศก็เป็นอีกหนึ่งข้อเรียกร้อง สำคัญที่ในร่าง พ.ร.บ.รับรองอัตลักษณ์ทางเพศบรรจุไว้เช่นกันว่า บุคคลที่มีอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์ มีสิทธิยื่นคำขอเพื่อระบุเพศและชื่อตัว รวมถึงเครื่องหมายระบุ เพศสภาพในทะเบียนราษฎร์ ให้สอดคล้องกับอัตลักษณ์ทางเพศสภาพของตนได้

และสำหรับผู้ที่ได้รับการเปลี่ยนแปลงข้อมูลเพศและชื่อในสูติบัตร รวมถึงเครื่องหมายระบุเพศ ในทะเบียนราษฎร์เขาผู้นั้นมีสิทธิใช้คำนำหน้านามที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ ตลอดจนมีสิทธิและหน้าที่ตามอัตลักษณ์ทางเพศสภาพนั้นด้วย

“ฉะนั้นเราจะพูดออกมา ลุกขึ้นมาพูดอย่างภาคภูมิและกล้าหาญ
เริ่มต้นตั้งแต่แบบเรียนสุขศึกษา ว่านอกเหนือไปจากชายและหญิง
ยังมีคนที่มีคุณลักษณะร่างกายที่แตกต่างไป และเขาไม่ใช่คนผิดปกติ
ไม่ควรถูกนิยามว่าเป็นความผิดปกติ และควรถูกยอมรับในความแตกต่าง”